รับตัวแทนจำหน่าย ไม่ต้องสต็อกของ, รับตัวแทนฟรี, รับสมาชิกตัวแทนขาย ฯลฯ คำโฆษณาต่างๆ ลักษณะนี้คงเคยผ่านหูผ่านตาหลายคนที่ใช้สื่ออินเตอร์เน็ต กูเกิล โซเชียลมีเดียกันมาบ้าง สิ่งนี้คือ ธุรกิจ Drop Shipping หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Dropship (ดรอปชิป) ธุรกิจออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงที่ WOW จะมาชี้ช่องทางให้รู้จักกัน หรือถ้าอยากทำต้องทำอะไรและต้องรู้อะไรก่อนทำกันบ้าง
Dropship ขายไม่ต้องมีของ
Dropship หรือ Drop Shipping (หรือบางทีก็เรียก Dropshipping) เป็นวิธีขายปลีกสินค้าแบบที่ร้านค้าไม่ต้องมีสินค้าที่จะขายเป็นของตัวเอง
วิธีการสร้างรายได้คือ นำรูปและลักษณะของสินค้าที่ร้านค้าสามารถสั่งมาขายโพสต์ลงเว็บไซต์หรือเว็บที่ขาย เมื่อมีลูกค้ามาสั่งสินค้า ร้านค้ารับเงินค่าสินค้าแล้วค่อยไปสั่งกับร้านขายสินค้าจริงพร้อมกับจ่ายเงินค่าสินค้านั้นให้กับร้านขายสินค้า และร้านขายสินค้าจะเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าเอง
รายได้ของร้านค้าจะมาจาก ส่วนต่างของค่าสินค้า เช่น สมมติร้านค้าประกาศขายสินค้าชิ้นละ 120 บาท ร้านค้ารับเงินลูกค้ามา 120 บาท แต่ร้านค้าจ่ายให้ร้านขายสินค้าจริงด้วยมูลค่าเงินน้อยกว่านั้น เช่น ขายสินค้าราคา 120 บาท แต่อาจจ่ายร้านขายสินค้าแค่ 100 บาทหรือน้อยกว่า 120 บาท แล้วแต่ว่าตกลงกันไว้เท่าไหร่
แผนผังการขายสินค้าแบบ Dropship
สรุปแล้วคือ ร้านค้าแนว Dropship จะทำหน้าที่เป็นคนซื้อสินค้าจากร้านค้าจริงให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ร้านค้าจริงจะเป็นโรงงาน ผู้ค้ารายใหญ่ หรือผู้ผลิตสินค้าเองเลย โดยที่ร้านค้าจริงเป็นคนส่งสินค้าให้ในนามของร้านค้าแนว Dropship อีกที
ข้อดีของการทำDropship
Dropshipเป็นรูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่น่าสนใจสำหรับผู้เริ่มสนใจอยากทำธุรกิจของตัวเองเป็นครั้งแรก ด้วยรูปแบบของDropship เอื้อให้ผู้สนใจสามารถทดลองไอเดียธุรกิจได้หลากหลาย เช่น แหล่งร้านรับตัวแทนขาย สินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาด ช่องทางการขาย การตั้งราคา ฯลฯ เพราะไม่มีต้นทุนการกักตุนสินค้าเอง มาดูข้อมูลอย่างละเอียดๆ กันว่ามีอะไรบ้าง
1. ใช้ต้นทุนน้อยมาก
ต้นทุนต่ำอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของการทำ Drop shipping ก็ว่าได้ เพราะ Drop shipping สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนเงินจำนวนมากก่อน พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องซื้อสินค้าเลยสักชิ้น จนกว่าจะมีลูกค้าสั่งสินค้าและจ่ายเงินเข้ามา
2. เริ่มต้นง่าย
พอไม่ต้องสต็อกของ ก็เริ่มต้นได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่อง
- จัดการหรือค่าเช่าโกดังเก็บของ
- แพ็คของ ส่งของให้ลูกค้า
- นับสต็อกของเพื่อทำบัญชี
- จัดการสินค้าที่ถูกตีกลับ
- สต็อกสินค้าให้มีอยู่ในคลังอย่างต่อเนื่อง
3. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดน้อย
เมื่อไมต้องสต็อกสินค้าหรือจัดการเรื่องโกดังของเอง ค่าใช้จ่ายยิบย่อยก็น้อยลงตามไปด้วย ผู้ขายของออนไลน์แนว Dropship จำนวนไม่น้อยเลยในบ้านเรา ที่ใช้แค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวทำงาน
แม้ในอนาคตเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ผู้ทำ Dropship จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตาม เช่น จ้างพนักงาน แต่ก็ยังน้อยกว่าการทำธุรกิจออนไลน์แบบสต็อกสินค้าเองอยู่ดี
4. ทำงานที่ไหนก็ได้
อาชีพในฝันเลยไหมล่ะ! Dropshipping เป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ต เพราะตราบใดที่คุณสามารถติดต่อกับลูกค้าและผู้ส่งสินค้าได้ ก็สามารถทำงานนี้ได้แล้ว
5. มีสินค้าให้เลือกขายได้หลายอย่าง
คุณจะขายอะไรก็ได้ เพราะไม่ต้องสต็อกของเอง รับความเสี่ยงเอง แต่ส่วนมากแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็จะพยายามคุมประเภทของสินค้าที่ขายให้เป็นประเภทเดียวกัน เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน อาหารเสริม เป็นต้น
6. ทดสอบตลาดได้ง่าย
Dropshipping เหมาะกับการทดสอบความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องประดับ ไปจนถึงสินค้าใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่เคยมีใครขายมาก่อน
เพราะอย่างที่บอกว่า การทำDropship ช่วยทดสอบสินค้ากับความต้องการซื้อของลูกค้า ก่อนที่ร้านค้าจะตัดสินใจผลิตหรือสั่งมาขายจำนวนมากๆ
7. ขยายขนาดธุรกิจได้ง่าย
หากเป็นธุรกิจขายปลีกทั่วไป ถ้าคุณได้รับออเดอร์จากลูกค้าเยอะขึ้น 3 เท่า คุณต้องลงมือทำงานเพิ่มเป็น 3 เท่า
แต่ถ้าเป็นธุรกิจแบบ Dropship การจัดการออเดอร์ประมาณ 90% จะไปตกอยู่ที่โรงงานที่รับออเดอร์ไปจัดการต่อ เมื่อภาระงานน้อย คุณก็สามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น และขยายใหญ่ได้ไวด้วย
เมื่อธุรกิจขยายใหญ่ขึ้น แพลตฟอร์มออนไลน์อาจรองรับลูกค้าได้ไม่เพียงพอ หรือทำโอกาสการขายได้น้อยกว่าการมีหน้าเว็บของตัวเองหรือ Sale Page ซึ่งเว็บเพื่องานขายนี้ทำหน้าที่รองรับออเดอร์ลูกค้าตรง ตัดปัญหาการหักค่าคอมมิชชั่นของแพลตฟอร์ม ควบคุมได้มากกว่า แถมยังไม่ตัดโอกาสการขายบนช่องทางอื่น ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการช่องทางการขายทั้งหมด คลิกเดียวที่เว็บอัปเดตทุกร้านค้า
จุดด้อยของการทำDropship
พูดถึงข้อดีมาเยอะแล้ว แต่ Dropshipping ก็เหมือนกับรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ที่มีจุดด้อยหรือข้อด้อย ซึ่งมากับความสะดวกและความปรับเปลี่ยนได้ง่าย ที่เป็นจุดเด่นของDropshipนั่นเอง
1. กำไรต่อชิ้นน้อย
กำไรต่อชิ้นสินค้าหรือการขายน้อย เป็นจุดด้อยของธุรกิจDropship ที่การแข่งขันค่อนข้างสูง (ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากรูปแบบธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่าย) ผู้ขายเยอะพร้อมจะกดราคาให้ถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งก็พร้อมที่จะนำข้อเสนอของร้านค้าต่างๆ ไปเปรียบเทียบกันอยู่แล้ว
2. ไม่รู้สต็อกของที่แท้จริง
การขายสินค้าแบบปกติ ผู้ขายจะเป็นคนทำสต็อกสินค้าเอง ก็จะรู้ว่า มีสินค้าอะไรบ้าง พร้อมขายเท่าไหร่ แต่พอเป็นการทำDropship ร้านDropship จะไม่รู้ในทันทีหรือมีข้อมูลอยู่กับตัวเองว่า สินค้ามีอยู่หรือไม่ สินค้าใหม่ที่กำลังจะเข้ามาคืออะไร ทำให้ร้านแนวDropship ต้องคอยอัพเดตโรงงานและหน้าร้านออนไลน์ของตัวเองตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันร้านค้าสามารถแก้ไขประเด็นนี้ได้ด้วยการทำระบบ Channel Manager ในเว็บขายของที่ช่วยอัปเดตข้อมูลสินค้าไปยังพื้นที่ขายของออนไลน์นอกเว็บไซต์ได้แล้ว
ดังนั้น เมื่อสินค้าหมด สินค้ากำลังอยู่ระหว่างเติมของ ร้านค้าเพียงแค่อัปเดตที่หน้าเว็บของตัวเอง ระบบก็จะอัปเดตทุกช่องทางให้เลยอัตโนมัติ ซึ่ง WOW Sale Page มีฟังก์ชั่นนี้ด้วยเช่นกัน (สามารถคลิกที่นี่เพื่อสอบถามข้อมูลได้)
3. การจัดส่งที่ยุ่งยากกว่า
ร้านแนวDropship ส่วนมากรับขายสินค้าจากหลากหลายแหล่งสินค้า ซึ่งปัญหาที่ต้องเจอคือ วิธีคิดค่าจัดส่งสินค้าถึงลูกค้า เพราะสมมติลูกค้า 1 คน สั่งสินค้า 3 ชิ้นจากทางร้านค้าของคุณ แต่สินค้าทั้ง 3 ชิ้น มาจากโรงงาน 3 แห่ง การคิดค่าจัดส่งสินค้าจึงจะมีความยุ่งยากขึ้น
ร้านค้าส่วนมากมักแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งราคาสินค้ารวมค่าส่งแล้ว หรือการคิดค่าส่งสินค้าเป็นราคาเดียวมาตรฐาน ซึ่งเป็นราคาที่ครอบคลุมการส่งสินค้าทุกขนาดและน้ำหนัก เป็นต้น
4. ปัญหาจากต้นทางสินค้า
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นทางสินค้าหรือ Supplier เป็นสิ่งที่ร้าน Dropshipไม่สามารถควบคุมหรือพัฒนาปรับแก้ได้ แถมร้านค้าต้องน้อมรับคำตำหนิจากลูกค้าไปแบบเต็มๆ รวมถึงรับผิดชอบลูกค้าสำหรับปัญหาการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการให้โรงงานร่วมรับผิดชอบเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเข้าใจได้ยากในมุมมองของลูกค้า
5. ความแตกต่างน้อย ทำแบรนด์ดิ้งยาก
สินค้าที่ทำส่งร้านDropship จะออกแบบและสร้างแบรนด์โดยผู้ผลิตสินค้า เพื่อให้ร้านDropship ต่างๆ ขาย ดังนั้นความแตกต่างของสินค้าจึงมีน้อย (หรือจนถึงขั้นไม่มีเลย) การทำแบรนด์ดิ้งจึงเป็นไปได้ยาก ทางร้านที่อยากทำแบรนด์ดิ้งจึงอาจต้องหารือกับทางผู้ส่งสินค้า หรือทำโปรโมชั่นขึ้นเอง
สินค้าแบบไหนที่เหมาะจะขายแบบDropship?
ผู้คนมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแต่ละประเภทแตกต่างกัน เราไม่ซื้อบ้านเดี่ยวได้ง่ายแบบเดียวกับที่ซื้อไก่ทอดราคา 20 บาทฉันใด การขายสินค้าแต่ละประเภทก็มีวิธีการแตกต่างกันฉันนั้น มีของอะไรบ้างที่ขายแบบDropship แล้วเวิร์คจริงๆ
1. สินค้าเพื่องานอดิเรก
เม็ดเงินเพื่อสินค้าประเภทงานอดิเรกคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ด้วยมูลค่าของสิ่งของหรือบริการ และความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อกิจกรรมยามว่าง นอกจากนี้ สินค้างานอดิเรกยังเป็นกลุ่มสินค้าที่มีนวัตกรรมหรือวิวัฒนาการของสินค้าอยู่เรื่อยๆ ทำให้ร้านค้าขายสินค้าได้และมีของป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง
2. สินค้าเพื่อธุรกิจ
ลูกค้าแนวธุรกิจจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องราคา แต่ถ้าสั่งซื้อสินค้าแล้วก็จะสั่งเป็นจำนวนมากหรืออย่างน้อยก็มากกว่าลูกค้ากลุ่มทั่วไป รวมถึงเป็นลูกค้าระยะยาว สั่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจ
3. สินค้าที่ต้องซื้อซ้ำ
อย่างที่บอกข้างต้นว่า การที่ลูกค้าต้องสินค้าต่อเนื่อง คือเรื่องดีของธุรกิจ ดังนั้น สินค้าที่มาจากร้านDropship จำนวนมากจึงมักเป็นสินค้าที่ต้องซื้อซ้ำหรือซื้อบ่อยๆ เช่น ร้านเสื้อผ้า ของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องเขียน
ตัวอย่าง Dropship ที่ขายสินค้าที่ต้องซื้อบ่อย ใช้ตลอด
เรื่องเล็กๆ ที่ต้องดูเวลาเลือกสินค้าขายแบบDropship
ราคา
สินค้าที่ราคาแพงมากๆ อาจจะไม่เหมาะกับการขายแบบDropship เพราะร้านไม่มีสินค้าจริงให้ดูและหลายคนอาจไม่สะดวกใจถ้าซื้อสินค้าราคาสูงกับร้านDropship
แต่ก็มีทางแก้ไขอยู่ เช่น การหาภาพสินค้าจริงที่ขายจากโรงงานมาแสดงให้ลูกค้าดู การพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ไม่ใช่ระบบแชทอัตโนมัติ
การตั้งราคามาตรฐาน
โรงงานหรือต้นทางสินค้าส่วนมากจะตั้งราคาขายขั้นต่ำมา แล้วให้ร้านDropship ขายสินค้าต่อในราคาที่เท่ากับหรือสูงกว่าเพื่อป้องกันการทำสงครามกดราคา ซึ่งมักเกิดขึ้นกับรูปแบบธุรกิจนี้ และช่วยให้ร้านค้าที่ขายของได้กำไรอย่างสมควร
สินค้าที่มักได้เปรียบจากหลักเกณฑ์นี้คือ สินค้ากลุ่มเฉพาะ เพราะจะมีคู่แข่งน้อยและสู้กันในเรื่องของความน่าเชื่อถือและช่องทางการขาย
การทำการตลาด
จะโฆษณาสินค้าอย่างไร คือ สิ่งที่ต้องคิดก่อนจะเริ่มต้นขายสินค้านั้นจริงๆ ไม่ใช่เริ่มขายสินค้าไปแล้วเพิ่งมาคิดว่าจะขายอย่างไร วิธีการโฆษณามีอย่างไรบ้าง
เช่น ทำ SEO เว็บไซต์ เชิงเทคนิคอย่างจัดโครงสร้างเว็บไซต์ เขียนบทความรีวิวสินค้าที่ขายหรือสินค้าแบบเดียวกันที่มีขายในตลาด ทำคลิปยูทูบมาฝังในเว็บที่ขายสินค้า ฯลฯ เลือกวิธีที่เข้ากับสินค้าและความถนัดของคุณ
สินค้าเสริมให้กับสินค้าหลัก
สินค้าที่คุณขาย ต้องมีสินค้าอะไหล่หรือของแต่งเสริมหรือเปล่า เช่น ขายโทรศัพท์ ต้องมีเคสใส่โทรศัพท์ สายชาร์จ แบตเตอรี่สำรอง
โดยมากแล้ว สินค้าเสริมเหล่านี้จะทำกำไรให้กับธุรกิจได้พอๆ กับหรือมากกว่าสินค้าหลักด้วย อีกทั้งยังขายง่าย เพราะลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลักมักจะซื้ออะไหล่กับเจ้าเดียวกันเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ได้กับสินค้าหลักที่ซื้อ
ความเปลี่ยนแปลงน้อย
การทำหน้าร้านออนไลน์เป็นงานที่ลงทุนไม่มากทั้งเวลาและเงินก็จริง แต่หากต้องปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้ากลุ่มเดิมได้อีกต่อไป อาจจะไม่คุ้มค่า เช่น เว็บขายเครื่องราง เพราะเครื่องรางมีอายุความนิยมค่อนข้างสั้น ถ้าโฟกัสที่เครื่องรางชนิดเดียวอาจเสี่ยงสูง
ความยากง่ายในการหาซื้อสินค้า
การขายสินค้าที่หาซื้อในท้องถิ่นหรือห้างสรรพสินค้าแถวบ้านทั่วไปไม่ค่อยได้ คือโอกาสที่สวยงามของร้านค้าออนไลน์ เพราะถ้าลูกค้าหาซื้อสินค้านั้นๆ แถวบ้านตัวเองไม่ได้ ก็จะเริ่มค้นหาในอินเตอร์เน็ตแทน
ขนาดสินค้า
เล็กหรือใหญ่มีผลกับธุรกิจออนไลน์อย่างมากในเวลานี้ เพราะบริษัทขนส่งจำนวนมากใช้ขนาดเป็นปัจจัยในการคำนวณค่าขนส่ง รวมถึงบางครั้ง การไม่คิดค่าขนส่ง สามารถนำมาเป็นโปรโมชั่นกระตุ้นการขายได้
ดังนั้น หากขายสินค้าที่มีขนาดใหญ่หรือหนักก็อาจจะทำให้การทำโปรโมชั่นหรือทำราคาสู้กับคู่แข่งเป็นไปได้ยากขึ้น
WOW ส่งท้าย
Dropshipping เป็นวิธีขายของออนไลน์วิธีหนึ่ง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นวิธีการขายที่มีความเสี่ยงทางการเงินน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกธุรกิจมีเหมือนกันแน่ๆ คือ ความทุ่มเทที่ต้องเกิดขึ้นในช่วงก่อร่างสร้างธุรกิจใหม่ๆ การวางแผนเพื่อเดินหน้า แก้ไข หรือพัฒนาธุรกิจในวันที่พร้อมจะเติบโต
ซึ่ง WOW ในฐานะผู้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อการขายโดยเฉพาะ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อทำเว็บไซต์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเราเชื่อมั่นว่า บ้านที่แข็งแรงจะเป็นสถานที่ฟูมฟักสมาชิกในบ้านได้ดี เหมือนกับเว็บไซต์ที่เสถียรที่ช่วยให้ธุรกิจบนโลกออนไลน์เติบโตได้อย่างมั่นคง มีเวลาเหลือไปพัฒนาธุรกิจได้ตามใจต้องการ